วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรถ Toyota Hilux จากกรณีไม่ผ่านการทดสอบ Moose Test

จากประเด็นเกี่ยวกับ Toyota Hilux โฉมล่าสุดที่ได้ไปปรับแก้ระบบควบคุมการทรงตัว VSC จนผ่านการทดสอบ Moose Test แล้ว (อ่านข่าวได้ที่ Toyota Hilux 2016 โฉมยุโรปผ่านการทดสอบ Moose Test แล้วหลังจากได้รับการปรับปรุงแก้ไข) ก็ยังคงมีหลายคให้ความสนใจและแสดงความเห็นกันหลากหลาย ผมเลยเอาประเด็นนี้มาวิเคราะห์ดูตามความรู้ (อันน้อยนิดที่ผมมี)


การทดสอบเมื่อปลายที่ผ่านมา คนทดสอบเขาตั้งใจทำให้ล้อยกหรือเปล่า ประมาณว่าจะดิสเครดิต Toyota อะไรแบบนั้น มันดูไม่น่าเชื่อถื่อ
: เรื่องนี้ผมไม่มีความรู้พอที่จะตอบ แต่ผมไปเจอบทความในคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=RjboPfZDYds เขาอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด แต่ขอยกมาบางส่วนให้อ่านกันครับ


"ในการทดสอบ Toyota Hilux ครั้งที่ผ่านมาต่างสงสัยกันว่าทำไมการทดสอบจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องของสภาพรถยนต์ที่ใช้ทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง สภาพยางและลมยาง จำนวนการทดสอบ สภาพถนนที่ใช้ทดสอบ โหลดหรือน้ำหนักของรถ ความเร็ว และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ทำการทดสอบที่เป็นผู้ควบคุมรถ โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคิดว่าผู้ทดสอบไม่มีความเป็นกลาง และจากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมา การทดสอบเป็นการทดสอบระยะทางสั้นๆ และขับด้วยความเร็วไม่สูงมาก ทำให้หลายปัจจัยที่ถูกหยิบยกขึ้นมา แทบจะไม่มีผลในการพิจารณา เพราะจะถูกกำหนดให้เหมือนๆกัน จากที่เห็นด้วยตาผ่านคลิปดังกล่าว เช่น สภาพถนนที่ใช้ทดสอบ ระยะทาง ความกว้างของถนน การจัดวางสิ่งกีดขวาง 

สรุปได้ว่า ปัจจัยแปรผันส่วนใหญ่ถูกใช้กับรถที่ถูกทดสอบเหมือนๆกัน และการที่ระยะทางสั้นและความเร็วที่ไม่สูงมาก ก็ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทดสอบน้อยลงเช่นกัน ต่างจากการทดสอบในระยะทางไกลและความเร็วสูง ที่การเลี้ยวพวงมาลัยที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย อาจจะทำให้ผลการขับขี่ที่ได้ มีผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พูดง่ายๆคือ การทดสอบที่ตั้งใจให้ไม่ผ่านการทดสอบ น่าจะเป็นไปได้น้อย"

ก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่าสื่อเจ้าใหญ่ที่มีชื่อเสียงในสวีเดนอย่าง Teknikens Varld  ทำไมเขาต้องมาดิสเครดิตโตโยต้า หรือตั้งใจโจมตีด้วย เพื่ออะไร? ทำแล้วได้เงินจากค่ายอื่นหรือเปล่า? ถ้าเขาทดสอบอย่างไม่เป็นธรรม หรือดูแล้วไม่น่าเชื่อถือ เจตนาบิดเบือนประสิทธิภาพสินค้า  Toyota คงฟ้องหรือเอาเรื่องสื่อเจ้านี้แล้ว

แล้วไหนตอนแรก Toyota บอกว่าผ่านมาตรฐาน ISO3888 ล่ะ
:  คำพูดนี้เป็นคำพูดจากปาก PR ของ Toyota สวีเดน อ้างอิงจาก http://www.headlightmag.com/news-toyota-hilux-upgraded-vsc-for-moose-test/ ไม่แปลกที่เขาจะใช้คำพูดสวยหรู แต่อย่างน้อยเขาก็บอกว่า "จะนำเคสนี้เก็บไปพิจารณาอย่างจริงจัง" ก็ไม่เห็นจะมีท่าทีว่าจะปฎิเสธหรือบอกปัดความผิดพลาดลูกเดียวนะ แล้วทุกท่านลองคิดดูครับ คลิปของสื่อเจ้านี้มีคนเข้ามาดูเป็นล้าน (ปัจจุบันก็ 9.4 กว่าล้านคน) มีคนให้การวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย มันควรจะปล่อยไว้เฉยๆหรือ? ลองคิดดูสิครับ ถ้าเป็นตัวคุณทำสินค้าออกมาได้ไม่ดี แล้วโดนคนกระหน่ำด่า คุณจะอยู่เฉยๆแล้วรอให้เรื่องเงียบ หรือจะเดินหน้าหาวิธีแก้ไข ก็ต้องเลือกอย่างหลังกันอยู่แล้ว

และคราวนี้เห็นว่า Toyota บริษัทแม่อุตส่าห์ส่งคนมาคุยกับสื่อ Teknikens Varld กันถึงที่ เพื่อมาหารือแก้ไขปัญหาของตัวรถ ผมว่าก็ดีแล้วนะครับ 

แล้วในประเทศไทยจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขแบบในยุโรปหรือไม่
: ตามข่าวคือแก้ไขเฉพาะ "ภูมิภาคยุโรปเท่านั้น" ครับ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศสวีเดนซึ่งอยู่ในภูมิภาคยุโรป โดยรถ Hilux เวอร์ชั่นยุโรปจะมี "น้ำหนักรวมน้ำหนักบรรทุก" สูงสุดอยู่ที่ 3,210 กิโลกรัม ในออสเตรเลีย 3,000 กิโลกรัม ในอาร์เจนติน่า 2,910 กิโลกรัม และประเทศไทย 2,750 กิโลกรัม ซึ่งในการทดสอบ Toyota เขาก็ใส่ตัวถ่วงทั้งหลายให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุดตามที่ระบุไว้ และเนื่องด้วยน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกของไทยที่ต่างจากของยุโรปเกือบๆ 500 กิโลกรัม เลยทำให้ Toyota อาจจะคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบกับรถที่ขายในไทยเลยไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่ม

ส่วนหนึ่งผมไม่รู้ว่าเกี่ยวกับแฟนคลับรถ "บางกลุ่ม" ด้วยหรือเปล่า ครั้งหนึ่งผมเคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการแก้ไข Hilux ในสวีเดน มีท่านหนึ่งมาคอมเมนต์บอกว่า "ไม่จำเป็นต้องแก้ไขหรอก ผู้ใช้รถ แฟนคลับทั้งหลายเขารับได้อยู่แล้ว" "ใส่โช้คดีๆสักชุดก็จบ มันช่วยได้" ถ้าเกิดสมมติว่า Toyota มาเจอเสียงจากผู้ใช้เหล่านี้ แล้วเกิดไม่แก้ให้เพราะเหตุผลเหล่านี้จริงๆขึ้นมา ผมว่าจะพีคมาก

เอาจริงๆก็ยังไม่รู้ว่า Toyota Motor Thailand จะปรับปรุงแก้ไขระบบ VSC ตามเวอร์ชั่นยุโรปหรือไม่นั้นก็ไม่รู้ เพราะตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวทดสอบ Moose Test ไม่ผ่าน ก็ดูท่าทางว่า Toyota ไม่ได้สนใจอะไร ก็ยังคงนำเสนอโฆษณาที่มีพี่เวียร์ขับรถ แล้วโปรยคำว่า "แกร่งจริง หนึบจริง" และล่าสุดที่ออกโฆษณา "แชมป์ยอดขาย 11 ปีซ้อน" ก็รอดูเอาแล้วกันครับว่าเขาจะแก้ให้หรือเปล่า


แล้วไอ้เหล็กที่ยื่นออกมาแปลกๆมันคืออะไร มีไอ้นี่มาถ่วงน้ำหนักมาช่วยให้ไม่ยกละมั้ง
: มันคือบาร์กันคว่ำ ติดตั้งเผื่อไว้ป้องกันการทดสอบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ซึ่งในคลิปก็ปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อ้าวเฮ้ย...ที่รายการขับซ่าออกมาทดสอบ หรือที่เขาขับในสนามของ Toyota แล้วที่อื่นๆทำไมล้อไม่ยก
: เพราะการทดสอบในรายการขับซ่า เป็นการทดสอบโดยรถเปล่าไม่มีการบรรทุกของแต่อย่างใด มีคนขับในรถคนเดียว ต่างจาก Moose Test ของสวีเดนที่จะบรรทุกด้วยน้ำหนักบรรทุกสูงสุดซึ่งจะไม่เท่ากันในแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละค่ายจะกำหนดน้ำหนักบรรทุกของรถรุ่นนี้มาเท่าใด แต่แน่นอนว่าการทดสอบของรายการขับซ่าเขาก็อ้างอิงตามมาตรฐาน ISO3888  ซึ่งผลที่ออกมาเท่าที่ผมไปดูในรายการ เขาก็ยังบอกว่า Hilux Revo ออกอาการมากสุด


   
ก็ทั้งหมดเป็นการอธิบายและวิเคราะห์เกี่ยวกับข่าว Toyota Hilux ในการทดสอบ Moose Test หากข้อมูลไหนผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยด้วยครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. มันไม่มีค่าเซ็ทอัพใดของช่วงล่างที่ดีที่สุดในทางวิศวกรรมฯ ต้องเลือกว่าเมื่อได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง...ขึ้นอยู่กับว่าเอาไปใช้งานอะไรอย่างไร เมื่อได้ข้อดีในด้านหนึ่งแล้วจะมีข้อด้อยในอีกด้านหนึ่งอย่างไร(ทำไมไม่อธิบายตรงนี้?) รถทดสอบฯเมื่ออยู่ในมือของนักทดสอบเท้าหนักทั้งหลาย...(มุมมองอยู่ด้านเดียว)แล้วจะมาสรุปแว่! นี่คือรถที่มีช่วงล่างที่ดีที่สุด...จากอะไร? ในด้านไหน? เหมาะสมตรงกับการใช้งาน(อันหลากหลาย)แบบใด? บทสรุป..ไม่ใช่มาป่าวประกาศว่านี่คือรถที่ดีที่สุด..(จากบ้าบออะไร)เพราะมีช่วงล่างที่ดีที่สุด!! ความต้องการของคนใช้งานจริงมีหลายหลากจะมาฟันธงในมุมมองเดียวได้ไง? ...ใช้เกณฑ์การให้คะแนนฯซิ! แล้วแจงให้ผู้บริโภคดูเป็นด้านๆๆไป อย่าไปยกเอาด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก คนตัดสินเลือกซื้อเลือกเอามาใช้มาคือผู้บริโภค! ...ด้วยภาษาแบบบ้านๆ! ที่เข้าใจกันทั่วไป เช่น...เขาอาจจะพอใจแค่เรื่องการประหยัดน้ำมันเป็นหลักค่าบำรุงรักษาต่ำๆ หรืออาจต้องการแค่เครื่องยนต์ทนๆปรับแต่งได้ง่ายเพื่ออะไรๆในด้านหนึ่ง หรือเน้นช่วงล่างดีๆเป็นหลักไว้ก่อนอย่างอื่นที่ด้อยกว่าไม่คำนึงเพราะตรงตามการใช้งานที่ต้องการ (...แต่! เชื่อขนมกินเถอะว่า รถที่มีช่วงล่างที่อุ้มกันว่าดีที่สุดในท้องตลาด เมื่อนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันจริงๆในด้านต่างๆๆแล้ว จะมีอยู่มุมหนึ่งกลับเป็นข้อด้อย ข้อเสียจากการใช้งาน! เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางวิศวกรรมฯ)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมอธิบายตามขอบเขตที่ผมรู้ครับ ถ้าอยากได้แบบกว้างๆแบบที่พิมพ์ร่ายยาวมา ผมทำไม่ได้ครับ
      เพราะไม่ได้ทราบข้อมูลขนาดนั้น

      ลบ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวรถได้
ห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพนัน หรือสิ่งผิดกฎหมาย

Like Box