วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สอดส่อง ขุดคุ้ยตำนานรถ Episode 02 : กระบะ Nissan

เราเคยนำเสนอถึงตำนานกระบะไทยอย่าง Toyota ที่มีชื่อเสียงมายาวนานพอสมควร สามารถอ่านได้ตามนี้ครับ http://carsnewupdate.blogspot.com/2014/08/episode-01-toyota.html
    แต่ถ้าเราพูดถึงอีกหนึ่งกระบะไทยที่มีชื่อเสียงสั่งสมมายาวนานไม่แพ้กัน และแน่นอนมันมีประวัติเก่าที่น่าสนใจมากเลย เลยทำให้ผู้เขียนต้องหาแหล่งข้อมูลเด็ดๆที่กล่าวถึงประวัติตั้งแต่ต้นที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดกระบะ Nissan มาถึงตรงนี้แล้วคงจะรู้ว่าน่าสนใจแค่ไหน และที่ผ่านมาก็เพิ่งมีการเปิดตัวกระบะ All-New Nissan NP300 Navara ด้วย ฉะนั้นแล้วเรามาย้อนดูวันวานของกระบะนิสสันตั้งแต่ยังเป็น Datsun จนมาถึงเจ้า Nissan NP300 Navara กันดีกว่าครับ

1964 Datsun Bluebird 320
    เจ้าคันนี้ถือเป็นกระบะรุ่นแรกที่ได้รับการนำเข้า โดย บริษัท สยามกลการ จำกัด ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการออกมาตั้งแต่เมื่อประมาณ ปี 1964 โดยเปิดตัวออกมาภายใต้ชื่อว่า DATSUN Bluebird 320 เนื่องจากได้มีการแบ่งกลุ่มกันไว้ว่าเป็น รถยนต์นั่ง และ รถกระบะ ขนาดเล็กจะออกจำหน่ายในชื่อของ DATSUN แต่ถ้าเป็น รถบรรทุก รวมตลอดไปถึง รถโดยสาร ขนาดใหญ่จึงจะใช้ ชื่อว่า NISSAN ซึ่งรถรุ่นดังกล่าวนั้นจะมีรูปโฉมในด้านหน้าเหมือนกันกับ รถเก๋ง DATSUN Bluebird รุ่นแรกทุกอย่างโดยจะแตกต่างกันตรงด้านท้ายที่อยู่ในลักษณะของ “กระบะ” เพียงเท่านั้น แถมยังใช้ เครื่องเดียวกัน คือ “E-1” ที่เป็นเครื่องยนต์ขนาด 1200 CC. ใช้เกียร์มือ ที่มีลักษณะเป็นก้านโยกเกาะอยู่ที่คอพวงมาลัย โดยไฟหน้า และ ใบปัดน้ำฝน จะควบคุมด้วยสวิทช์แบบที่เป็นปุ่มดึง 
 
1966-1972 Datsun L520-Datsun L521
   โฉมนี้ยังคงเป็นรถนำเข้า  โดยที่โฉมใหม่จะยังยึดแนวเดียวกับ รถเก๋ง หรือโฉมเดียวกับ Bluebird รุ่นใหม่อยู่เหมือนเดิม ซึ่งในส่วนของ รถเก๋ง รุ่นนี้สำหรับในสมัยนั้นจะได้รับความนิยมนำมาทำเป็น “รถแท็กซี่” มากที่สุด จนสามารถเบียดแชมป์เก่าอย่าง AUSTIN A35 VAN ตกขอบไปและกลายเป็นตัวหลัก ในวงการแท็กซี่ต่อมาอีกหลายปี หน้าตาของตัวรถจะมีจุดสังเกตอยู่ที่เป็นแบบ “ตาเดียว” ข้างละดวง และเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ใหม่ ในรหัส “J13” ซึ่งเป็นเครื่องเบนซินที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นขนาด 1300 CC. มากับพละกำลัง 62 แรงม้าที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์มือ แบบ 3 เกียร์ มากับระบบเบรคแบบดรัมเบรคทั้งหน้า/หลัง 


   ในเวลาอีกไม่กี่ปีถัดมา ก็มี “L 520” ไมเนอร์เชนจ์ ที่ปรับปรุงหน้าตากันนิดหน่อยตามออกมา ซึ่งจะเปลี่ยนโคมไฟใหญ่ให้เป็น แบบ ไฟหน้าคู่ ฟากละสองดวงตามความนิยม และมีไฟเลี้ยว ติดอยู่ใต้โคมใหญ่เหนือกับมุมกันชนเล็กน้อย ส่วนอื่นๆและเครื่องยนต์ยังเป็นแบบเดิม

    ในปี 1970 มีการไมเนอร์เชนจ์รุ่นเดิมกันอีกครั้ง พร้อมเปลี่ยนรหัสการเรียกขานใหม่เป็น “L521” ซึ่งมีการประกอบรถกระบะ DATSUN ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก การเปลี่ยนแปลงอยู่ในส่วนลายหน้ากระจัง และกรอบโคมไฟใหญ่ที่ยังเป็นแบบไฟหน้าคู่กันใหม่ แต่ยังคงไว้ด้วยกันชนหน้าที่ทำจากอลูมิเนียม ในรูปทรงเดิม มีการเพิ่มไฟหรี่/ไฟเลี้ยวขนาดใหญ่พอสมควรเข้าไปที่ด้านใต้โคมใหญ่หรือเหนือ กันชน และยังมีไฟเลี้ยวดวงเล็กรูปทรงหัวลูกศรติดอยู่ตรงหัวร่องข้างสะเอว หรือที่ตรงแก้มหน้าอีกดวงหนึ่งด้วย เครื่องยนต์ยังคงเป็นขุมพลัง J 13 ตามเดิมครับ
 

1972-1980 Datsun L620-Datsun R620
    รุ่นนี้ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า รุ่น “ช้างเหยียบ” อันเนื่องมาจากการโฆษณาทั้งภาพยนตร์และภาพนิ่ง ที่นำ ช้าง ขึ้นไปยืนอยู่ภานในกระบะทั้งตัว เพื่อสื่อให้เห็นถึ พละกำลังและความทนของตัวรถ มีการเพิ่มรุ่นให้เลือกซื้อหามากขึ้นด้วยเครื่องยนต์ 2 แบบ ได้แก่ J13 1300 CC. ตัวเดิมและ J15 ที่เพิ่มความจุขึ้นเป็น 1500 CC. มากับพละกำลัง 74 แรงม้าที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.7 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที เปลี่ยนระบบส่งกำลังมาเป็นแบบเดินหน้า 4 จังหวะ และมีเกียร์กระปุกให้เลือกด้วยตามซึ่งในขณะนั้นทางกลุ่มของรถเก๋งได้รับความนิยมล่วงหน้าไป 4-5 ปีแล้ว แถมด้วยการเพิ่มขนาดของตัวรถให้เลือกหาทั้งแบบ ช่วงสั้น-ช่วงยาว ซึ่งจากการที่มีทางเลือกมากขึ้นประกอบกับรูปลักษณ์ของตัวรถที่จัดได้ว่ามีความสวยเข้าตามากกว่ายี่ห้ออื่นอยู่ไม่น้อย และได้สร้างยอดจำหน่ายกระฉูดไปทั่วประเทศ  



 และในช่วงใกล้เคียงกันนี้เองก็ได้มีการนำเข้ารถกระบะรุ่นที่ใหญ่กว่ระดับ Mid Size ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของ Light Truck มาเสริมตลาดคือ Nissan “Caball Junior” ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2,000 CC. พละกำลัง 91 แรงม้าที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.1 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที(ถ้าเป็นรุ่น “Caball” ธรรมดาจะเป็นรถหน้าตัดในลักษณะ และพิกัดเดียวกับ Isuzu Elf และ Toyota Dyna ซึ่งในปัจจุบันยังคงหลงเหลือให้พอเห็นในสภาพดูไม่ค่อยได้แล้วครับ
ต่อมาในปี 1977  มีการเปลี่ยนรหัสเรียกขานของรุ่นรถเฉพาะตรงตัวภาษาอังกฤษ ไปเป็น “R620” ซึ่งเครื่องดีเซลช่วงปลายยุคของรุ่น ช้างเหยียบ มีการนำเครื่องดีเซล มาติดตั้งใช้งานเป็นครั้งแรกในรุ่นที่นำมาติดตั้ง คือ SD22 2200 CC. มากับพละกำลัง 65 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 1,800 รอบ/นาที
 
1980-1986 Datsun Professional-D - Nissan Professional-5
    ยุคนี้เริ่มเข้าสู่สู่ยุคตัวถังเหลี่ยมที่มีแนวเส้นสายทันสมัย ในขณะนั้นใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า DATSUN Professional-D และมีรหัสทางเทคนิคเรียกขานว่า SG720 ซึ่งจะมีจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจน ตรงภาษาอังกฤษคำว่า DATSUN ที่ติดไว้กลางหน้ากระจัง รถรุ่นนี้ในระยะแรก จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกหา 2 แบบ คือ เบนซิน เครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตรบล็อกใหม่ J16 มากับพละกำลัง 80 แรงม้าที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.8 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ 4 เกียร์เดินหน้าที่มีให้เลือกทั้งช่วงยาวและช่วงสั้น เครื่องดีเซลยังคงเป็นเครื่อง 2200 CC. บล็อกเดิมจากรุ่นช้างเหยียบ ซึ่งในช่วงแรกจะมีแค่ช่วงยาวอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ในระยะต่อมาคือราวปี 1981 มีการเพิ่มรุ่นดีเซล-ช่วงสั้นขึ้นมาอีก พร้อมกันนั้นก็ยังเริ่มมีแบบ ดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู ให้สั่งได้ในฐานะรถกระบะดัดแปลงอีกด้วยครับ


   ปี 1982 มีการแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้ค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิม ทำให้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพิ่มออกมาเป็นระยะ โดยเริ่มนำ เกียร์ 5 จังหวะ มาติดตั้งให้กับรถกระบะในรุ่นดีเซล พร้อมปรับการเรียกชื่อรุ่นไปเป็น Professional-5 และอีก 1 ปีถัดมาคือปี 1983 ได้ปรับขุมพลังด้วยการเปลี่ยนเครื่องดีเซลเป็นเครื่อง SD23 2300 CC. มากับพละกำลัง 77 แรงม้าที่ 4,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.8 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที ถัดมาในปี 1984 ก็ได้เปลี่ยนการเรียกของ ยี่ห้อรถ ไปเป็น NISSAN พร้อมปรับปรุง หน้ากระจังและกันชน ให้ดูแปลกออกไป และเปลี่ยนเป็นเครื่องเบนซิน  L18 1800 CC. พละกำลัง 85 แรงม้าที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.8 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที ที่ทันสมัยด้วยรูปแบบ OHC และ 5 เกียร์เดินหน้า อีกเช่นกัน 
 
1986-1997 Nissan Big-M D21
    ยุคทองของ Nissan อยู่ที่ยุคนี้ เริ่มด้วยการเปิดตัว Nissan Big-M ใหม่หมดตั้งแต่หัวจรดท้าย ทั้งเครื่องยนต์และตัวถัง ด้วยรหัส D21 โดยในช่วงแนะนำตัว และให้สื่อมวลชนทดลองขับ ได้สร้างความฮือฮาเอาไว้ด้วยการ รรทุกน้ำหนัก 1.5 ตัน ได้อย่างสบาย ซึ่ง ณ ตอนนั้น รถกระบะในบ้านเราปกติจะเคลมน้ำหนักบรรทุกไว้ที่ 1 ตัน จึงกลายเป็นขวัญใจของคนทำมาหากิน จนได้คำอุปมาอุปไมยเป็น“Big M = Big Money และยังมีเครื่องยนต์เบนซิน รหัสว่าZ 16-S 1600 CC. มากับพละกำลัง 84 แรงม้าที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-เมตรที่ 3,200 รอบ/นาที และเครื่องยนต์ดีเซล SD25  2500 CC. มากับพละกำลัง 77 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที ตอนนั้นมีตัวถังแบบช่วงยาวให้เลือกแบบเดียว พวกช่วงสั้นที่เห็นกันอยู่จะเป็น “รถกระบะจดประกอบ” ที่เป็นรถเก่าจากญี่ปุ่น ซึ่งมีเข้ามาอยู่เพียงล็อตเดียว ก่อนกฏหมายห้ามประกอบ รถเก่าจะมีผลบังคับใช้ 

    ในยุคของ “Big-M” นี้พอ จะถือได้ว่าเป็นยุคสุดยอดนับแต่เริ่มมี รถกระบะ NISSAN เป็นต้นมาเพราะสามารถสร้างยอดจำหน่าย สะสมเฉพาะรุ่นเอาไว้สูงมาก ซึ่งเป็นผลของการปรับเปลี่ยนโฉมออกมาอยู่เรื่อยๆ เช่นในรุ่นพิเศษ “แค็บสตาร์ช่วงยาว” ที่เป็นแบบ 6 ล้อ รวมถึงรุ่น “ดับเบิ้ลแค็บ” ที่สั่งต่อได้ต่างหาก และยังได้เริ่มนำรุ่น ขับเคลื่อน 4 ล้อ เข้ามาจำหน่ายอยู่จำนวนหนึ่งในช่วงแรกๆด้วยครับ
    
     ในปี 1987 มีการนำเครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่ขึ้นในรหัส Z20 2000 CC. ที่มีพละกำลัง 91 แรงม้าที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.2 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที เข้ามาเสริมทัพ และในช่วงปลายปี เดียวกันนี้ ก็เปลี่ยน เครื่องยนต์ดีเซล ไปเป็นรุ่นในลักษณะ สเวิร์ลแชมเบอร์ ที่ใช้รหัส TD25 เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรที่มากับพละกำลัง 85 แรงม้าที่ 4,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.2 กก.-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาทีซึ่งเปิดตัวในช่วงปี 1989 ก็ได้มีการแนะนำโฉมใหม่ ห้องโดยสารใหญ่ ที่เรียกกันว่า รุ่น King Cab ออกมาเป็นครั้งแรกหลังจากที่เจ้าอื่นเปิดตัวกันไปหมดแล้ว ซึ่งในขณะนั้นจะเป็นแค่เพียงแค็บขนาดเล็กเท่ากันกับรุ่นในอเมริกาและมีเอกลักษณ์ตรงรูปทรงของกระจกบานเผยอที่โค้งส่วนบน ขึ้นไปหุ้มทับขอบหลังคา (สำหรับรูปลักษณ์ ที่เป็นแบบห้องโดยสารใหญ่นี้ในระยะหลังๆ วงการนิยมเรียกว่ารุ่น ตอนครึ่ง กันเป็นพื้น) 


 อีก 1 ปีให้หลัง ก็มีการปรับปรุง แบบไมเนอร์เชนจ์ ออกมาด้วยรุ่น “BDI” ที่มีจุดเด่นในรูปแบบทูโทนที่มีอยู่เพียงยี่ห้อเดียวในตอนนั้น เปลี่ยนเป็นเครื่องดีเซล BD25 ที่ีมากับพละกำลัง 90 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที มากสุดในยุคนั้น ทอร์ค 17.6 กก.-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาที 


   ในปี 1993 ก็มีการปรับโฉมใหญ่ โดยยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างของแซสซีส์-หัวเก๋งเดิมแต่เปลี่ยนหน้าตาตลอดจนเปลือกนอกรอบคันกันใหม่หมดและยังคงใช้รหัส D21  ซึ่งก็คือโฉมของรุ่นหน้าหักที่มาพร้อม โป่งข้าง รูปแบบเดียวกับรุ่น “Hadr Body 4 WD” ที่ฮิตอยู่ในอเมริกา พร้อมกันนั้นก็ยังจะขยายความยาวของหัวเก๋ง ในรุ่น King Cab ใหม่ให้ยาวเทียบเท่ากับ ISUZU เลยทีเดียว สำหรับรุ่นหน้าหักที่มาใหม่นี้จะยังคงวางเครื่องดีเซล BD25 ตัวเดิม สำหรับเบนซินก็ Z20 ที่มากับพละกำลัง 91 แรงม้าที่ 5,200 รอบ/นาที ทอร์ค 15.2 กก.ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม 

และ 2 ปีต่อมา (1995) ก็มีการปรับโฉมกันอีกครั้งซึ่งสวนทางกับตลาดโลก มีการเปลี่ยนฝากระโปรงไปเป็นแบบที่มีช่องรับลมทรงยาวเรียงกันอยู่ 3 ช่องเพิ่มขึ้นมาในช่วงที่เป็นมุมหักเดิม หน้าตาที่เปลี่ยนใหม่ จะเป็นการนำเอาของเก่าที่ฮิตมาตั้งแต่สมัย Terrano ตัวแรกมาใช้ เป็นการย้อนยุคเพื่อเอาใจแฟนๆ ส่วนใหญ่จะลงความเห็นกันว่ารุ่นเก่าที่มีช่องรับลมจะแลดูสวยกว่า

 ในปี 1997 มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลอีกครั้งเพื่อต่อกรกับคู่แข่งที่เครื่องแรงๆกันทั้งนั้น โดยจะหันกลับไปอยู่ในรูปแบบสเวิร์ลแชมเบอร์กันอีกครั้งด้วย TD27 ที่มากับพละกำลัง 97 แรงม้าที่ 4,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 180 นิวตัน-เมตรที่ 2,200 รอบ/นาที สำหรับในรุ่นนี้จะมีแบบดับเบิ้ลแค็บในพิกัดของ รถกระบะดัดแปลง ให้สั่งต่อกันได้อีก 

1998-2007 Nissan Big-M Frontier


    ปี 1998 ถึงคราวที่ Nissan เปิดตัวของใหม่ รหัสใหม่ D 22 ยังคงใช้โครงสร้างหัวเก๋งเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนโครงหน้ารถและเปลือกนอกทั้งหมดตลอดจนบานประตูไปเป็นแบบรูปลักษณ์ใหม่ มีให้เลือกทั้งแบบหัวเก๋งธรรมดา “Premium Cab” และ แบบตอนครึ่ง “King Cab” และยังได้เพิ่มรุ่น ดับเบิ้ลแค็บ “Crew Cab” แบบที่ผลิตออกมาจากโรงงานโดยตรงออกมาให้เลือกหากันอีกแบบหนึ่งด้วย ในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อธรรมดายังใช้เครื่อง TD27 ตัวเดิม แต่เปลี่ยนเครื่องเบนซินใหม่ที่วางใน Terrano II ก็คือเครื่องเบนซิน KA24E ที่มากับพละกำลัง 120 แรงม้าที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 189 นิวตัน-เมตรที่ 3,600 รอบ/นาที ซึ่งวางในรุ่น “ขับเคลื่อน 2 ล้อ-เกียร์อัตโมนัติ“ และในรุ่น “ขับเคลื่อนสี่ล้อ 4 WD” ที่พึ่งจะนำเข้ามาใหม่อีกครั้งใน แต่เครื่องเบนซินมีฟีดแบ็คไม่ดี ฉะนั้นในปี 2000 จึงไมเนอร์เชนจ์ กันอีกครั้ง พร้อมกับมีการเปิดตัวรุ่น “ขับเคลื่อน 4 ล้อ มีจมูก” เปลี่ยนเครื่องดีเซลใหม่ TD25Ti 2,500 CC. เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ พละกำลัง 110 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 245 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบ/นาที


   หลังจากการไมเนอร์เชนจ์ก็ยังขายไม่ค่อยดี มีแค่เครื่อง TD27 ที่ไปได้สวย และต่อมาในปลายปี 2001  จึงมีการปรับโฉมใหม่ ด้วยแก้มใหม่และแนวด้านข้างเหมือนรุ่นในอเมริกา ผิดกันเพียงทรงกันชนและหน้ากระจัง และเปลี่ยนเครื่องดีเซลใหม่ที่ทันสมัยสุดในยุคนั้น ในรหัส ZD30 DD ที่มีความจุ 3000 CC. และอยู่ในรูปแบบ ดีเซล 4 สูบ ไดเร็คท์อินเจ็คชั่น DOHC 16 วาล์ว พละกำลัง 105 แรงม้าที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 209 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบ/นาที ถือได้ว่าเป็นการนำเครื่องยนต์ทันสมัยในลักษณะดังกล่าวมาติดตั้งให้แก่รถกระบะเป็นยี่ห้อแรกในประเทศไทย ช่วงแรกจะติดตั้งมาให้แค่ในรุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อ  King Cab และ Double Cab ก่อน เว้นช่วยหน่อยนึง ก็มีการเผยโฉมเครื่องยนต์เดิมแต่พ่วงเทอร์โบ ในรหัส ZD30 DDT ติดตั้งมาในตัวรถรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ และส่งผลให้รุ่นดังกล่าวถูกจัดให้เป็นรุ่นที่มีพลังแรงที่สุดในขณะนั้นด้วยระดับ 150 แรงม้าที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 314 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบ/นาที

   และต่อมาก็มีการเปิดตัวขุมพลังบล็อกใหม่ YD25Di ที่มากับพละกำลัง 129 แรงม้า แรงบิด 294 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีดในรุ่น AX/AXL
 
2006-2014 Nissan Frontier Navara 
    ถือเป็นความโชคร้ายของเมืองไทยอันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องการจำหน่ายระหว่างตัวแทนจำหน่ายในไทย สยามกลการ กับ บริษัทแม่ในญี่ปุ่น ส่งผลให้เจ้า Navara ใหม่รหัสตัวถัง D40 เปิดตัวในไทยข้ากว่าตลาดโลกถึง 3 ปี เพราะที่อื่นเขามีใช้ตั้งแต่ปี 2003 แล้ว ส่งผลให้โฉมนี้ต้องลากขายในตลาดโลกยาวกว่า 11 ปี ทำให้ตัวถังมันดูโบกว่าคู่แข่งในช่วงปี 2006 เลย เครื่องยนต์มี 2 ทางเลือก ยังคงเป็น YD25Di เหมือนเดิม แต่มากับพละกำลัง 144 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 356 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบ/นาที และอีกแบบที่โคตรแรงเลยในตอนนั้น มันมากับพละกำลัง 174 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 403 นิวตันเมตรที่ 2,000 รอบ/นาที ต่อมา NAVARA ทุกคัน ด้านข้างจะมีเขียนว่า ECO-LOADER ,ECO-PWR 6MT, ECO-PWR 5AT ต่อมาปี 2011ได้ตัดคำว่า Frontier ออกจาก NAVARA กลายเป็น NISSAN NAVARA และ ที่แก้มรถซ้ายขวาติดคำว่า Navara ในปี 2012 NAVARA ได้เพิ่มชุดแต่ง ได้ปรับโฉมเงียบๆในช่วงน้ำท่วม ปี 2011 มี 2 แบบ 2 สไตล์ให้เลือกครับ คือ Sports version กับ Gran Titanium

   ในปี 2013 เพิ่มเครื่องเบนซิน QR25DE ความจุ 2500 CC. 4 สูบ มากับพละกำลัง 154 แรงม้าที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิด 242 นิวตันเมตรที่ 4,400รอบ/นาที แต่ว่าเติมได้แค่แก็สโซฮออล์ E10 และเบนซิน 91 เท่านั้นพร้อมถังก๊าซของ Navara CNG นั้น ให้ความจุ 140 ลิตร พร้อมพื้นปูกระบะ (Bed Liner)
และฝาครอบปิดถังก๊าซมาให้ โดยถังก๊าซนั้นผลิตจากเหล็กคุณภาพสูง ทนทานต่อแรงดันสูงเป็นพิเศษ
มั่นใจยิ่งขึ้นกับระบบโซลินอยด์วาล์ว เพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะตัดการจ่ายก๊าซโดยอัตโนมัติ 

 
2014-Present Nissan NP300 Navara
    และก็มากับถึงโฉมใหม่ที่หลายคนรอคอยกันมานาน ซึ่งก่อนหน้าการเปิดตัว 1 สัปดาห์ก็มีภาพหลุดจากโรงงานออกมาเต็มๆ ซึ่งภาพถูกถ่ายโดยซัพพลายเออร์ของ Nissan ซึ่งตอนนี้ก็โดนไล่ออกจากงาน อันเนื่องมาจากเพื่อนที่แอบหวังดีประสงค์ร้ายหรือเปล่า ตานี่ทำงานที่ค่ายกระบะดัง แล้วลงรูปแพร่กระจายในเน็ต เป็นเรื่องดราม่าคุยกันเลย ณ ตอนนั้น เปิดตัวในไทยครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2014 สร้างจุดขายใหม่ๆ เป็นครั้งแรกของกระบะไทยที่มีไฟหน้า LED ฝัง DRLในไฟหน้า และมาพร้อมกับปุ่ม Push Start Button พร้อมแอร์ตอนหลัง  เครื่องยนต์เป็นบล็อกเดิมรหัสเดิมเป๊ๆ YD25DDTi ที่มีการปรับแต่งขุมพลังให้แรงขึ้น มาพร้อมทางเลือก 2 ขุมพลัง ได้แก่ 163 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 403 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบ/นาที และพละกำลัง 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตรที่ 2,000 รอบ/นาที เครื่องยนต์ตัวนี้สงวนสิทธิ์เฉพาะตัวท็อปชของแต่ละตัวถังครับ ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีดพร้อมโหมดแมนวล ครังแรกในวงการกระบะไทย

    และทั้งหมดที่ไล่มายาวๆแบบนี้ก็คือประวัติของกระบะ Nissan ในเมืองไทยที่มีชื่อเสียงสั่งสมมายาวนานจนถึงทุกวันนี้ และแน่นอนยังมีฐานแฟนคลับและผู้ใช้ที่เยอะไม่น้อยเลยละครับ ซึ่งทำให้กระบะค่าย Nissan ยังเป็นกระบะที่ใครๆยังรักและชอบมันไม่น้อย โดยเฉพาะโฉมใหม่ที่โคตรหล่อโดนใจและออปชั้นเพียบ ขอจบเท่านี้ละครับ
ขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาจาก http://www.weekendhobby.com/offroad/nissan/question.asp?id=442 และ http://tpcnissan.blogspot.com/
 แนะนำ ติชม พูดคุย ติดตามข่าวสารรถใหม่ฉับไวก่อนใครกับ Cars New Update ที่นี่!!


 

1 ความคิดเห็น:

  1. ดัทสันช้างเหยียบที่แท้จริงในยุคนั้น ตอนผมเด็กๆ อายุประมาณไม่เกิน 10 ขวบ ไม่เกิน 2516-18 เคยนั่งของเพื่อนพ่อครับ คือเจ้ารุ่น 520 ที่มีสี่ตานะครับ ในยุคนั้น เคยมีโฆษณาในทีวี ขาวดำ เอาช้างมายืนบนหลังกะบะของรถ เป็นโฆษณาในเมืองไทยเรา
    ส่วนช้างเหยียบที่ทางคุณบอกมา ผมเคยนั่งรถสีส้ม ของพ่อผมเอง เป็นช่วงยาว5 ตะขอ กะบะ เครื่อง ดีเซลครับ และตอน ช่วงปี 2521-22 ก็เคยใช้กะบะสีส้มเครื่องเบนซินช่วงสั้นของคุณพ่อมาหัดขับจนเป็นครับ ยืนยันว่าไม่ใช่ช้างเหยียบนะครับ เป็นรุ่น620 ครับ
    ช้างเหยียบตัวจริง หาซากกันลำบากครับ ถึงได้เป็นความเข้าใจผิดกันมาตลอด
    ณรงค์กร รัชชนะธรรม

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวรถได้
ห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพนัน หรือสิ่งผิดกฎหมาย

Like Box