วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

สอดส่อง ขุดคุ้ยตำนานรถ Episode 04 : Toyota Corolla

  ค่าย Toyota มีรถในตำนานที่ทำให้โลกได้กล่าวถึงหลายคันอยู่เหมือนกัน แต่ในบทความเรื่องนี้เราจะมากล่าวถึงรถคอมแพกต์ซีดานรุ่นขายดีรุ่นหนึ่งของโลก และยังเป็นรถซีดานขวัญใจมหาชนที่มียอดขายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกว่า 40 ล้านคัน และเป็นหนึ่งในซีดานที่อยู่ในใจผู้ใช้มานานพอสมควร และที่เราจะมากล่าวถึงก็คือ Toyota Corolla นั่นเองครับ

   ที่เราจะมากล่าวถึงประวัติของ Toyota Corolla มาบอกว่าให้ท่านผู้อ่านได้รับได้รู้ในแบบฉบับ และสไตล์ของผู้เขียน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับ 

เหตุเริ่มนี้เมื่อ น้องเติ้ล คุณผู้อ่านของเราและเป็นสมาชิกเพจ Cars New Update น้องเขาบอกกับเราว่า เพื่อนๆของเขาสนใจที่จะอ่านประวัติความเป็นมาของ Toyota Corolla ตั้งแต่รุ่นเก่ายันใหม่ ตอนแรกผู้เขียนคิดในใจว่า "เราจะทำได้หรือ" เพราะข้อมูลไม่มีเลย แต่พอลองค้นหาในกูเกิล เราก็ไปเจอข้อมูลของทางวิกิพิเดียและอีกเว็บไซด์หนึ่ง ซึ่งแน่นอนครับ ผู้เขียนจะพยายามเอา 2 แหล่งนี้ มายำรวมกันเป็นประวัติ Toyota Corolla ในสไตล์ข้าพเจ้า ซึ่งมันอาจจะดูเหมือนการ copy และ paste มานี่แหละครับ 

ขอบอกไว้ก่อน อย่าคาดหวังอะไรกับผู้เขียนนะครับ อย่าคาดหวังกับเด็กคนนึงที่กำลังเรียนอยู่ ม.6 เลย วัยกำลังเรียน กำลังเตรียมสอบแอด สอบเข้ามหาลัย ทำได้เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว อย่าริดูถูกว่าอายุแค่นี้ทำอะไรได้ รู้อะไรกันมั้ย เด็ก ม.3 ที่ผู้เขียนรู้จักบางคน ศึกษาเรื่องรถ ศึกษาสเปกรถ บอกข้อดีข้อด้อยรถได้ละเอียดกว่าตัวผู้เขียนอีก!

   เอ้า! มาเข้าเรื่องเข้าราวกันได้แล้วครับ เราจะมาเริ่มต้นการร่ายประวัติของ Toyota Corolla ทั้ง 11 เจเนเรชั่นกันดีกว่าครับ

1. Toyota Corolla KE10 (1966-1970)
    หากย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 1966 จากความสำเร็จของ Nissan Sunny 1000 CC. ในตลาดญี่ปุ่น ส่งผลให้โตโยต้าสนใจที่จะทำรถออกมาท้าชิงบ้าง  7 เดือนต่อจึงได้ฤกษ์คลอด Toyota Corolla รหัสตัวถัง KE10 ในแบบ 2 ประตู ส่วนรุ่น 4 ประตูตามมาในเดือนพฤษภาคม 1967 และสเตชันแวกอนในปี 1968 ซึ่งทำให้ Toyota ประสบความสำเร็จกับยอดขาย จึงเพิ่มตัวถัง coupe 2 ประตูปิดท้ายรุ่น ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า Corolla Sprinter รหัสตัวถัง KE15 



     KE10 ใช้เครื่องยนต์รหัส K 4 สูบ OHV 1,070 ซีซี 60 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที และรุ่น 73 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด  สำหรับเมืองไทย มีการนำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการโดยโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เมื่อปี 1966 โดยเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีการประกอบในประเทศไทยครับ

2. Toyota Corolla KE20 (1970-1978)

      เปิดตัวในปี 1970 โดยรถรุ่น Corolla Sprinter มีการเพิ่มรูปแบบตัวถัง sedan เข้าไปในเมนูผลิต และ มีการเปิดตัวรถรุ่น Corolla Levin (มาการรวมคำของ COROLLA+TWINCAM ENGINE) และ Corolla Sprinter Trueno โดยนำตัวถังแบบ ) Coupe GT มาใช้ และด้วยความประสบความสำเร็จของเจ้าโปรดักต์ตัวนี้ Toyota จึงตัดสินใจแยกธุรกิจการขายรถ Toyota Corolla เป็น 2 ธุรกิจ คือ 1. Auto ทำธุกิจขาย Corolla Sprinter และ Corolla Sprinter Trueno และ 2. Corolla ทำการขาย Corolla และ Corolla Levin


     KE20 มีเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นรหัส 3K 4 สูบ OHV 1,166 ซีซี 73 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.24 กก.-ม. ที่ 3,800 รอบ/นาที จนถึงรุ่นแรงสุด 2T-GR 4 สูบ ทวินแคม 1,588 ซีซี 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 5,200 รอบ/นาที ซึ่งพัฒนามาจากรหัส 2T-G 110 แรงม้า (PS) และเปลี่ยนมาใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีดเป็นครั้งแรก โฉมนี้ประสบความสำเร็จสูงมาก แม้ว่าจะมีรุ่นใหม่เปิดตัวในปี 1974 แล้ว แต่รุ่นนี้ก็ยังขายจนถึงปี 1978 จนเลิกผลิตไป

   นอกจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 1974 ไดฮัทสุ บริษัทในเครือโตโยต้า นำโคโรลล่าไปแปลงโฉมและทำตลาดในชื่อ ชาร์มังต์ (หรือรุ่น 1200 และ 1400 ในยุโรป) นับเป็นรถยนต์นั่งรุ่นใหญ่สุดของไดฮัทสุ 


3. Toyota Corolla KE30 (1974-1981)
    เปิดตัวเมื่อเดือน เม.ย. ปี 1974 มีรหัสตัวถังตั้งแต่ KE30 KE40 KE50 และ KE60 จะทำตลาดด้วยตัวถัง 2 และ 4 ประตู คูเป้ ลิฟต์แบ็ก 2 ประตู (ใช้รหัส TE37) และสเตชันแวกอน 3 และ 5 ประตู ที่ตัวถังด้านท้ายมีทั้งแบบกระจกโปร่งและแบบตัวถังทึบไม่มีกระจก ส่วนรุ่น Levin และ Trueno ใช้รหัส TE47 มีการเพิ่มรูปแบบตัวถัง hardtop coupe 2 ประตูเข้าไป ส่วนตัวถังแบบอื่นมีดังเดิม มีและเริ่มมีการพัฒนาและได้ผลิตระบบเกียร์ให้เลือกเพิ่มเป็น 4 ระบบ คืออัตโนมัติ 2 กับ 3 สปีด และ ธรรมดา 4 กับ 5 สปีด ขนาดเครื่องยนต์ 1.2 กับ 1.4 ลิตร

   การปรับโฉมตัวรถมีขึ้นในปี 1977 เปลี่ยนรหัสของ Corolla Coupe มาเป็น TE51 และ TE55 ในรุ่นลิฟต์แบ็ก ใช้ขุมพลังรหัส 2T-GEU 4 สูบ ทวินแคม 1,588 ซีซี EFI พร้อมระบบ TTC-C 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาท

   โฉมนี้นะครับ ทั่วโลกเริ่มทยอยหยุดขายและหยุดผลิตในช่วงปี 1979 และโฉมนี้ได้หยุดผลิตอย่างสมบูรณ์ในปี 1981 ครับ

4. Toyota Corolla KE70 (1979-1983)
    เพิ่มความหลากหลายของรูปตัวถังขึ้น โดยเพิ่มรูปตัวถัง sedan 2 ประตู และ liftback 3 ประตูเข้าไปเพิ่ม แต่ได้ระงับการผลิตตัวถังแบบ coupe 2 ประตู และโฉมนี้ยังเป็นโฉมสุดท้ายที่รถโคโรลล่าขับเคลื่อนล้อหลังเพียงอย่างเดียว ซึ่งโฉมต่อจากนี้ จะค่อยๆยกเลิกระบบขับเคลื่อนล้อหลังของโคโรลล่าไป แล้วแทนที่ด้วยระบบขับเคลื่อนล้อหน้าครับ และยังเป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตระบบเกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด และระบบเกียร์ธรรมดา 4 สปีดด้วยเช่นกัน




    การปรับโฉมของโคโรลล่า จากไฟหน้าทรงกลมแบบ 4 ดวงและแบบสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก มาเป็นไฟหน้าสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีขึ้นในเดือนสิงหาคม 1981

     เครื่องยนต์ของโคโรลล่าตัวถังนี้มี 4 รุ่น คือ 4K-U 4 สูบ OHV 1,290 ซีซี 72 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที รหัส 3A-U 4 สูบ OHC 1,452 ซีซี 80 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.8 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที รหัส 13T-U 4 สูบ OHV 1,770 ซีซี 95 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที ตามด้วยเครื่องปิดท้ายด้วยรหัส 2T-GEU 4 สูบ ทวินแคม 8 วาล์ว EFI 1,600 ซีซี 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 4 และ 5 จังหวะ รวมทั้งแบบอัตโนมัติ 2 และ 3 สปีดครับ


5. Toyota Corolla AE80 (1983-1987)
   เปิดตัวครั้งแรกในปี 1983 ประเดิมโฉมแรกที่ขับเคลื่อนล้อหน้า รหัสเครื่องยนต์ AE80 แต่ยกเว้น Corolla Levin และ Corolla Sprinter Trueno ที่ยังเป็นขับเคลื่อนล้อหลัง ใช้รหัสตัวถัง AE86 (รหัสในตำนานนั่นเอง) มีการปรับรูปแบบตัวถังใหม่ ได้แก่ coupe 2 ประตู , hatchback 3 ประตู , sedan และ station wagon 4 ประตู , liftback 5 ประตู และยังเป็นครั้งแรกที่มีการผลิตรุ่นดีเซลในพิกัด 1.8 ลิตร และใช้เบนซินในเครื่องยนต์ 1.3 ลิตรและ 1.6 ลิตร  ระบบส่งกำลังมีให้เลือก 2 ระบบ คือ อัตโนมัติ 3 สปีด และธรรมดา 5 สปีด วงการรถไทยมักเรียกว่าเจ้าคันนี้ว่า "โฉมท้ายตัด"




    แม้ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นแบบขับหน้า แต่รุ่น Levin และ Trueno รหัสตัวถัง AE86 ยังเป็นแบบขับหลัง ใช้ตัวถังต่างจากรุ่นอื่นๆ และวางขุมพลังพันธุ์แรงบล็อกใหม่รหัส 4A-GEU ทวินแคม 16 วาล์ว 1.6 ลิตร EFI T-VIS 130 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.2 กก.-ม.ที่ 5,200 รอบ/นาที ที่ผลิตโดยยามาฮ่า
 


    ด้วยสมรรถนะแรง ขนาดกะทัดรัด และรูปทรงไม่ล้าสมัย ทำให้ AE86 ยังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นนักเลงรถชาวญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ความแตกต่างทางด้านรูปลักษณ์ระหว่างเลวินและทรูโนในรุ่นนี้ คือ ชุดไฟหน้า โดยทรูโนจะใช้แบบ POP-UP และแน่นอนครับเจ้าคันนี้มันทำให้ก่อเกิดภาพยนตร์ การ์ตูน และเกมส์ Initial D นั่นเอง

    สำหรับสปรินเตอร์ ซีดาน แม้ยังใช้ชิ้นส่วนหลักร่วมกับโคโรลล่า ซีดาน แต่ด้านท้ายได้รับการออกแบบใหม่หมด และส่งไปทำตลาดสหรัฐอเมริกาในชื่อ เชฟโรเล็ต โนวา

   ระบบขับเคลื่อนมี 3 แบบใหเลือกใช้ ได้แก่ ล้อหน้า,ล้อหลัง และ 4 ล้อ ในช่วงนี้ รถขับเคลื่อนล้อหลังเริ่มมียอดขายลดลง เพราะคนเริ่มไปซื้อรถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่ในภาพรวมทั้งหมดนั้น เทคโนโลยีต่างๆในรถและรูปทรงที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น ทำให้ในปัจจุบัน มันก็ยังดูไม่ตกยุค รุ่นนี้มีการผลิตออกสู่ถนนกว่า 3.3 ล้านคัน และถ้านับรวมโฉมทั้ง 10 โฉม ตอนนั้นก็น่าจะ 40 ล้านคันแล้ว ปัจจุบัน นักเลงรถในญี่ปุ่น ก็จะยังรู้จักและขับรถโคโรลล่าโฉมนี้อยู่ โดยไม่ถือว่าล้าสมัย และโฉมนี้ก็เป็นโฉมสุดท้ายที่จัดเป็นรถขนาด Subcompact ที่อยู่ในตระกูล Corolla ด้วยครับ

 
6. Toyota Corolla AE90 (1987-1993)
    เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 1987 ด้วยซีดาน 4 ประตู แต่รุ่น FX เหลือแค่แฮทช์แบ็ก 3 ประตูเท่านั้นที่ทำตลาดญี่ปุ่น ส่วนรุ่น 5 ประตูส่งไปทำตลาดในยุโรปและโอเซียเนีย เป็นโฉมแรกที่ขยับตำแหน่งทางการตลาดจาก Subcompact ไปเป็น Compact ครับ ระบบขับเคลื่อนล้อหลังหายไป ได้มีการเพิ่มการผลิตรูปแบบตัวถัง hatchback 5 ประตู และโฉมนี้ ผลิตในช่วงที่ระบบเกียร์อัตโนมัติถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รถโฉมนี้ ได้เริ่มมีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด มา แต่ก็ยังผลิตรถรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีดอยู่



   Sprinter นอกจากตัวถังซีดานซึ่งในรุ่นนี้ออกแบบจนแตกต่างจาก Corolla แล้ว ยังเพิ่มรุ่น Liftback 5 ประตูในชื่อ Sprinter CIELO และใช้ชื่อโคโรลล่า ลิฟต์แบ็ก คอนเควสต์ ในตลาดยุโรปและโอเซียเนีย

Toyota Sprinter CIELO


   เลวินและทรูโน (รหัสตัวถัง AE92) เผยโฉมพร้อมกันและเปลี่ยนมาเป็นสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหน้า โดยไฟหน้า POP-UP ยังสร้างความแตกต่างให้กับคูเป้ทั้ง 2 รุ่นนี้เหมือนเดิม

   ขุมพลังของโคโรลล่ารุ่นนี้มีตั้งแต่รหัส 2E 4 สูบ OHC 12 วาล์ว 1,295 ซีซี 72 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ตามด้วยแบบทวินแคม 16 วาล์ว เริ่มจากรหัส 5A-F 1,500 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 3,300 รอบ/นาที และ 94 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.1 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาทีสำหรับรุ่นหัวฉีด EFI (5A-FE) รหัส 4A-G 1,587 ซีซี 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 5,200 รอบ/นาที แต่เมื่อเพิ่มซูเปอร์ชาร์จในรุ่น 4A-GZE กำลังสูงสุดจะเพิ่มเป็น 145 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที โฉมนี้คนไทยรู้จักกันในนาม โดเรม่อนครับ คงจะเป็นเพราะมีอุปกรณ์ครบครันละมั้ง เลยตั้งชื่อซะน่ารัก

Geo Prizm

   นอกจากนั้นแล้ว ยังส่งสปรินเตอร์ ซีดานไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในชื่อ จีโอ พริซึม ยี่ห้อใหม่ของเจนเนอรัล มอเตอร์สที่แยกตัวออกจากเชฟโรเล็ต สำหรับในไทย ได้ทำการเปิดตัวเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1987 เด่นด้วยเทคโนโลยีเครื่องยนต์ 16 วาล์ว เป็นรายแรกในเมืองไทย ใช้เครื่องยนต์ 2E และ 4A-F 16 วาล์ว 1587 ซีซี 94 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที 

    การไมเนอร์เชนจ์มีขึ้นในเดือนมีนาคม 1990 และเพิ่มรุ่นเกียร์อัตโนมัติ และ GTi ขุมพลัง 4A-GE 
130.5 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.8 กก.-ม.ที่ 6,000 รอบ/นรุ่นที่ 7 AE100 เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 1991 ด้วยตัวถังซีดาน พร้อมกับเปิดตัวพี่น้องร่วมสายพันธุ์โคโรลล่า เช่น รุ่นสปรินเตอร์ ที่มีความแตกต่างในด้านรูปลักษณ์อย่างชัดเจน และปิดท้ายด้วยรุ่นแฮทช์แบ็ก 3 ประตู FX ฮาร์ดท็อป 4 ประตูในชื่อโคโรลล่า เซเรส, สปรินเตอร์ มาริโน และโคโรลล่า ทัวริ่งแวกอน ในปี 1992

    และนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ขุมพลัง 5 วาล์ว/สูบ รหัส 4A-GE 4 สูบ ทวินแคม 20 วาล์ว 1,600 ซีซี 160 แรงม้า (PS) ที่ 7,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 5,200 รอบ/นาที ออกสู่ตลาดและในกลางปี 1988 นี้เอง ด้วยสาเหตุที่ความนิยมลดลง ทำให้โคโรลล่า เซเรส, สปรินเตอร์ มาริโน และ FX ถูกปลดออกจากสายการผลิต และยุติการทำตลาดในไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน และเหลือรุ่น FX ไว้ทำตลาดต่างประเทศเท่านั้น 


    โฉมนี้ ในเมืองไทยจะรู้จักกันดีในฐานะของโฉมที่มีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ 16 วาล์ว รุ่นแรกที่มีขายในไทยในช่วงนั้น มักมีสัญลักษณ์อักษรเขียนว่า "TWINCAM 16 VALVE" ไว้เป็นสัญลักษณ์ที่ประตูรถในรถบางคัน และเป็นเอกลักษณ์ของโคโรลล่าโฉมนี้ด้วย ในรุ่นท้ายๆนั้นได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ระบบหัวฉีด (เฉพาะรุ่นGTiเครื่องยนต์ 4A-GE 16v.) ซึ่งประหยัดน้ำมันกว่า และสามารถเติมแก๊สโซฮอล์ได้ครับ แต่เป็นส่วนน้อย

7. Toyota Corolla AE101 (1991-1997)
   เปิดตัวครั้งแรกในปี 1992 มีการผลิตเกียร์ธรรมดา 6 สปีดขึ้นควบคู่กับการผลิตรถเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 และ 3 สปีด เครื่องยนต์ยังมีระบบดีเซล (2.0 ลิตร) และเบนซิน (1.3 , 1.5 , 1.6 , 1.8 ลิตร) ทันทีที่เปิดตัวในไทยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 1992 ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ยอดการจองรถทะลุ 10,000 คันอย่างเกินคาดและยอดจองก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนผลิตไม่ทันกันเลยทีเดียว จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสั่งนำเข้ารุ่น LX Limited จากญี่ปุ่นมา 1,000 คัน และเพิ่มราคาขายคันละ 5,000 บาท 

    เป็นโฉมแรกของโคโรลล่า ที่ตราสัญลักษณ์วงรีไขว้สามวง(สามห่วง)ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของโตโยต้า (ก่อนหน้านี้ใช้เขียนเป็นอักษร TOYOTA ) โฉมสามห่วง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลโคโรลล่า เพราะก่อนนี้ โคโรลล่าจะมีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมๆ แต่โฉมนี้จะเริ่มเปลี่ยนจากความเหลี่ยมเป็นความโค้งมน และก็มีความโค้งมนมากขึ้นเรื่อยๆ และโคโรลล่าโฉมนี้ เครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ในรถเก๋งค่อยๆ หายไปจนเลิกผลิตไป กลายเป็นแบบหัวฉีดทั้งหมด

     การไมเนอร์เชนจ์มีขึ้นกลางปี 1994 และเพิ่มรุ่น 1,300 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ พร้อมรุ่นตกแต่งพิเศษสีเขียวในชื่อ LIME เพียง 300 คันเท่านั้นครับ Corolla สามห่วง หยุดผลิตในปี 1997 หลังการเปิดตัวโฉมที่ 8 ในเวลา 2 ปี
 
8. Toyota Corolla AE110 (1995-2002)
    เปิดตัวครั้งแรกในปี 1995 แต่ก็ถูกจวกหนักเรื่องการลดต้นทุนที่ใช้ชิ้นส่วนจากรุ่นเดิมมากถึง 40% ทาง Toyota เลยต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้มีความหลากหลายและสร้างความเป็นที่นิยมให้ประสบความสำเร็จสูงเหมือนโฉมสามห่วง ผลคือ มันแตกก็เป็นสองโฉมย่อย คือ โฉมตองหนึ่ง ผลิตระหว่าง 1995-1997 และ โฉม Hi-Torgue เริ่มผลิตเมื่อปี 1998-2002 ซึ่งโฉมไฮทอร์กนี้ได้สร้างความนิยมโดยมีคนซื้อไปทำแท็กซี่เป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ ในช่วงโฉม Hi-Torgue  นี้


    ตัวรถยังมีทางเลือกตัวถังที่มากมาย ทั้งแบบซีดาน คูเป้ และลิฟต์แบ็ก 3 และ 5 ประตู รวมถึงรุ่นเลวินและทรูโน (AE111) และเป็นครั้งแรกที่โคโรลล่ามีตัวถัง มินิ MPV ออกมาให้เลือกในชื่อ โคโรลล่า สปาซิโอ นอกจากนี้ยังรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้ขุมพลังรหัส A โดยรุ่นที่ทำตลาด คือ รหัส 4E-FE 1,331 ซีซี 85 แรงม้า (PS), 5A-FE 1,498 ซีซี 100 แรงม้า (PS), 4A-FE 1,587 ซีซี 115 แรงม้า (PS) แรงสุดด้วยรหัส 4A-GE 4 สูบ ทวินแคม 20 วาล์ว 1,587 ซีซี 165 แรงม้า (PS) รวมทั้งดีเซล 3C-E 4 สูบ 2,184 ซีซี 79 แรงม้า (PS)

    แม้ขุมพลังของโคโรลล่าในตลาดทั่วโลกยังเป็นรหัส A แต่เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา วางเครื่องยนต์ 1ZZ-FE พร้อมระบบวาลว์แปรผัน VVT-i มาตั้งแต่ปี 1998 ก่อนที่ตลาดยุโรปจะได้สัมผัส เครื่องยนต์ ZZ ในรุ่นปรับโฉมของโคโรลล่าเมื่อต้นปีนี้


 
    สำหรับ เมืองไทย AE112 ซีดาน เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 1996 และมีการปรับโฉมทุกปี เช่น โคโรลล่า ซาลูน ในปี 1997 ตามด้วยรุ่นพิเศษฉลองยอดผลิตรถยนต์ในเมืองไทยครบ 1 ล้านคันด้วยตัวถังสีดำเพียง 300 คัน รุ่นลิมิเต็ด ใช้สีเขียวเป็นสีตัวถัง รุ่นปรับโฉมครั้งใหญ่ โคโรลล่า ไฮทอร์คเพิ่ม ขุมพลังรหัส 7A-FE 1,800 ซีซี ในปี 1998  ในปี 1999   Corolla ยังได้เปิดตัวเนื้อหน่อใหม่ในตระกูล Corolla นั่นคือ Corolla Altis ซึ่งจะมีความหรูหรา มีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย Options ต่างๆ ดีกว่า แต่รูปโฉมตัวรถจะคล้ายโคโรลล่าทั่วไป โฉมที่ 8 นี้ ระงับการผลิตรูปแบบตัวถังประเภท hatchback 5 ประตู liftback 3 ประตู และ station wagon 4 ประตู แต่ได้เอา liftback hatchback และ station wagon 5 ประตูมาผลิตแทน
โฉมที่ 8 เลิกผลิตในปี 2002 สองปีหลังการเปิดตัวของรถโคโรลล่า โฉมที่ 9

9. Toyota Corolla Altis (2000-2007) 
     เปิดตัวครั้งแรกในปี 2000 เป็นครั้งแรกที่ Toyota แบ่งการจำหน่ายออกเป็น 2 ตัวถัง ได้แก่ แบบแคบและแบบกว้าง ในญี่ปุ่นจะใช้แบบแคบ เพื่อลดการเสียภาษี แต่สำหรับทั่วโลกจะใช้แบบกว้าง เหมือนที่เคยใช้ในการออกแบบ Toyota Camry generation ที่ 3 เมื่อได้รับความนิยมแล้ว ก็มีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบัน 


    รูปร่างภายนอกเด่นด้วยไฟหน้าแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์และกระจังโครเมียมแบบซี่ตั้ง (1.6J เป็นซี่นอน) รุ่น 1.8 ติดตั้งสปอตไลต์ทรงเฉี่ยวในกันชน ด้านข้างหรูด้วยชุดที่เปิดประตูชุบโครเมียม (1.6J สีเดียวกับตัวถัง) และคิ้วโครเมียมล้อมรอบกระจกหน้าและหน้าต่าง (1.6J สีดำ) รุ่น 1.6J ให้ล้อแม็กลาย 4 ก้าน ขนาด 6 x 14 นิ้ว ยางขนาด 185/70 R14 รุ่น 1.6E และ 1.8 ให้ล้อแม็กลาย 6 ก้าน ขนาด 6 x 15 นิ้ว ยางขนาด 195/60 R15
 



      รุ่นที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยมากที่สุดก็ยังเป็น Altis โฉมนี้ได้ทำการยุติการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด รวมทั้งการยุติการผลิตตัวถัง coupe 2 ประตู และ liftback 5 ประตู แล้วเอาแบบ van และ hatchback 5 ประตูมาผลิตแทน และยังคงผลิตรุ่นเครื่องดีเซล ขนาดเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ซึ่งไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ก็เป็น 1.4 , 1.5 , 1.6 , 1.8 ลิตรเหมือนเดิม 

    โฉมนี้ เป็นที่รู้จักในบ้านเราในฉายา "โฉมหน้าหมู" หรือ "โฉมตาถั่ว" เพราะไฟหน้ามีลักษณะคล้าย เมล็ดถั่ว โดยในประเทศไทยมีนักแสดงชื่อดัง แบรด พิตต์ เป็นพรีเซนเตอร์อีกด้วยครับ

    โฉมนี้ ในประเทศไทย โคโรลล่าได้มีการออกรุ่นใหม่ คือ LIMO ซึ่งจะมีออปชั่นน้อยและต่างจาก Corolla Altis ธรรมดา เพราะว่า LIMO จะไม่มีขายเป็นรถนั่งส่วนบุคคล แต่มีจุดประสงค์เพื่อนำมาทำเป็นแท็กซี่เท่านั้น ถือเป็นหนึ่งในแท็กซี่ที่วิ่งกันมากในเมืองไทย บางคันก็หมดอายุวิ่งแล้ว บางคันก็วิ่งบนถนนอยู่ ถึงเก่าแต่ก็ทนครับ โดยเมืองไทยจะมีขุมพลัง 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร VVT-i ทำตลาด
    

    Corolla Altis โฉมนี้ ยังมีการผลิตขายอยู่ที่ประเทศจีนในชื่อรุ่น Corolla EX ใช้เครื่องยนต์ Dual VVT-I บล็อก 4ZR-FE 1.6 ลิตร


10. Toyota Corolla Altis (2008-2013)
    เปิดตัวในไทยเมื่อปี 2008 มาพร้อมสโลแกน Be your own stars โดยมี ออแลนโด้ บลูม เป็นพรีเซนเตอร์ ถือเป็นอีกรุ่นที่ฮิตติดตลาดในไทย ยังคงจำหน่าย 2 ตัวถังเหมือนโฉมที่แล้วคือ แบบแคบและแบบกว้าง มีระบบเกียร์ธรรมดาทั้งแบบ 5 หรือ 6 สปีด สำหรับเกียร์อัตโนมัติ จะเป็นแบบ 4 สปีด และ Super CVT-i (ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์) ยังคงใช้ขุมพลังเดิมจากรุ่นที่ 9


   โฉมนี้ เครื่องยนต์ดีเซลยังผลิตอยู่ในบางประเทศประเทศขนาด 1.4 ลิตร และมีเครื่องเบนซินขนาด 1.5 , 1.6 , 1.8 , 2.0 , 2.4 ลิตร และได้ยกเลิกรูปแบบตัวถังออกไปมาก เหลือแต่แบบ sedan station wagon 4 ประตู และ hatchback 5 ประตู ในออสเตรเลีย จะใช้ชื่อในการทำตลาดคือ corolla hatchback นอกนั้นเช่นในญี่ปุน,ยุโรปและในบางประเทศจะใช้ชื่อในการทำตลาดคือ Toyota Auris 

    ในเดือนพฤษภาคม 2009 Toyota ได้เปิดตัวรุ่น 2.0 ลิตร เพิ่มในเมืองไทย ที่มากับขุมพลัง 2.0 ลิตร
3 ZR-FE Dual VVT-i 4 สูบ 16 วาล์ว พละกำลัง 141 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 189 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด


   ส่วน LIMO ในโฉมนี้ มีการผลิตรถรุ่น LIMO CNG ซึ่งเป็นรถลิโม ที่ติดระบบการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ มาตั้งแต่ในโรงงานโตโยต้า และ LIMO โฉมนี้ ได้เปิดขายให้กับประชาชนทั่วไปอยู่ช่วงหนึ่งด้วย ก่อนที่จะกลับไปขายทำแท็กซี่โดยเฉพาะเหมือนเดิม โดยโตโยต้าได้ทำรถรุ่น Advanced CNG มาขายให้ประชาชนทั่วไปแทน LIMO CNG
 



   วันที่ 5 สิงหาคม 2010 Toyota ก็แนะนำ Corolla Altis ไมเนอร์เชนจ์ที่ได้โฬม พัชฏะ มาเป็นพรีเซนเตอร์ งานนี้ Toyota ได้แนะนำเครื่องยนต์ใหม่ 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร Dual VVT-i และยังแนะนำเกียร์ลูกใหม่ในบ้านเรา (แต่เก่าของตลาดโลก) เกียร์ Super CVT-i (สถิตในรุ่น 1.8 ลิตรขึ้นไป) และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด 

  การปรับปรุงรถครั้งสุดท้ายในไทย เกิดขึ้นในวันที่ 13 พ.ย. 2012 Toyota ได้เปิดตัว Corolla Altis เครื่อง 1.8 ลิตรเดิมนี่หละ แต่ปรับให้รองรับกับ E85 ได้ งานนี้ได้อั้ม-พัชราภา มาเป็นพรีเซนเตอร์ พร้อมหั่นราคารุ่น 1.8 E จากเดิม 8.64 แสนบาท เหลือ 8.29 แสนบาท,รุ่น 1.8 G เดิม 9.19 แสนบาท เหลือ 8.99 แสนบาท และมีการเพิ่มรุ่น 1.8 G Navi ราคา 949,000 บาทด้วยครับ

11. Toyota Corolla Altis (2013-Present)
   เดิมที รถรุ่นใหม่จะทำการเปิดตัวในเดือน พ.ย. 57 แต่คงเป็นเพราะช่วงเวลายังไม่ลงตัวหรือกลัวขายไม่ได้ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงของการชุมนุมด้วย ทำให้ Toyota เลื่อนการเปิดตัวเป็นวันที่ 14 ม.ค. 57 แต่อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีรถทยอยลงศูนย์แล้ว มาพร้อมสโลแกน So...Excited และอีก 1 เดือนให้หลัง Toyota ก็โปรโมทรุ่นย่อยใหม่อีก นั่นก็คือรุ่น ESport ที่ได้ไมค์ พิรัชต์มาเป็นพรีเซนเตอร์ ยังคงมีให้เลือกตั้งแต่ขุมพลัง 1.6-2.0 ลิตร (ไทยโดนตัด 2.0 ลิตรออกไป) งานนี้ Toyota จัดระบบเกียร์ Super CVT-i ใส่ลงไปในเกียร์อัตโนมัติทุกรุ่นย่อย และใช้เครื่องยนต์ระบบ Dual VVT-i ทุกรุ่นย่อยเช่นกันครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งรุ่น CNG

     รูปร่างหน้าตาของรถได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ด้วยหน้าตาใหม่สไตล์ Keen Look ที่เราเห็นมาแล้วกับ Toyota Vios และ Yaris มากับดีไซน์สปอร์ตโฉบเฉี่ยวรอบคัน ตัวรถใหญ่กว่าเดิมแทบทุกสัดส่วน รูปลักษณ์ออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ ดูหรูหราลงตัวและภูมิฐานกว่าเดิมมาก ชุดไฟหน้า LED โปรเจคเตอร์ พร้อมไฟ LED daytime สำหรับวิ่งกลางวัน (เฉพาะ 1.8 V และ 1.8 S) ไฟท้าย LED ใหม่แบบ surface illumination รูปทรงเรียว ล้ออัลลอยมีให้เลือก 3 แบบ ทุกรุ่นมากับล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว ยกเว้นในรุ่น 1.6 J และ 1.6 J CNG มากับล้ออัลลอย 15 นิ้ว และรุ่น 1.8 ESport มากับล้ออัลลอย 17 นิ้ว

   ด้านเครื่องยนต์นั้นมากับเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร 1ZR-FE ให้พละกำลัง 122 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 154 นิวตัวเมตรที่ 5,200 รอบ/นาที และเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร 2ZR-FBE กำลังสูงสุด 141 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับเชื้อเพลิง E85 ได้ตามด้วยเครื่อง Bi-Fuel Type 1ZR-FE 1.6 ลิตร พละกำลัง 122 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 154 นิวตัวเมตรที่ 5,200 รอบ/นาที ทั้งหมดส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด ยกเว้นในรุ่น 1.6 J M/T และ 1.6 J CNG M/T จะมากับเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ราคาเริ่มต้นที่ 769,000-1,079,000 บาทครับ

    และทั้งหมดนี้ก็คือประวัติความเป็นมาของ Toyota Corolla Altis ทั้งหมด 11 เจเนเรชั่นด้วยกัน ซึ่งแต่ละเจเนเรชั่นก็มีดีในตัวของมัน และด้วยความที่รถดูลงตัวในแทบจะทุกด้าน ทำให้เป็นหนึ่งในรถที่ผู้คนกล่าวถึงกันมาก และเป็นขวัญใจมหาชนไปโดยปริยาย การันตียอดขายสะสมทุกรุ่น ทุกแขนงทั่วโลกกว่า 40 ล้านคัน ความนิยมก็ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย ที่เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้จริงๆว่า รถ Toyota Corolla ก็ยังคงเป็นขวัญใจมหาชนเสมอ และจะเป็นต่อไปอีกนานครับ...
 
 แนะนำ ติชม พูดคุย ติดตามข่าวสารรถใหม่ฉับไวก่อนใครกับ Cars New Update ที่นี่!!


 

2 ความคิดเห็น:

  1. ผมขับ 1.6G หน้าแบน 2010 ส่วนรุ่นที่ชอบที่สุดก็คงต้องเป็น AE 86 Trueno แต่ถ้าเครื่องยนต์ชอบบล๊อก 4AG TwinCam 20 Valve ที่สุดแล้ว มันคือตำนานแห่ง FR ครับ !!!
    ปล. ข้อมูลแน่น เขียนได้ครอบคลุมดีครับ ขอบคุณมากที่นำมาแชร์ให้ชาวเน็ตได้รับรู้

    ตอบลบ
  2. เพิ่มเติมอีกนิดคือ Altis 2010 ใส่เกียร์ให้ CVT ให้ 1.6G ด้วยครับ ส่วน 1.6E/J พวกนี้ยังใช้เครื่องเก่าบล๊อค ZZ อยู่ครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวรถได้
ห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพนัน หรือสิ่งผิดกฎหมาย

Like Box