วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

5 แบรนด์รถในไทยที่ถูกคนไทยลืม

   ตลาดรถยนต์เมืองไทยเรียกว่าเป็นหนึ่งในตลาด "ปราบเซียน" เลยก็ว่าได้ จะเห็นว่าค่ายน้องใหม่ที่ต้องการมาเปิดตลาดในไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นมีหลายแบรนด์ต้องหิ้วกระเป๋ากลับบ้านไปเกือบเสียทุกราย ซึ่งก็มีเหตุหลายอย่าง ทั้งเรื่องคุณภาพตัวรถ ศูนย์บริการ อะไหล่ การตลาดและอีกหลายอย่างด้วยกัน

   ในบทความเรื่องนี้ เราเลยขอยกตัวอย่าง 5 แบรนด์รถที่จำหน่ายในไทย และเป็นแบรนด์ที่คนไทยน่าจะลืมไปแล้วว่าเคยมีแบรนด์นี้ขายในเมืองไทยด้วย หรือเป็นแบรนด์รถยนต์ในตลาดที่คนไทยมักจะมองข้ามมันไป เพราะกระแสและความน่าสนใจของแบรนด์ใหญ่ๆในตลาดที่มากลบทับหมดทำให้แบรนด์เหล่านี้ถูกบังมิด หรือแทบจะไม่มีที่ยืนในตลาดเลยก็ว่าได้

Naza
ที่มา https://www.flickr.com/photos/ianfuller/3915145721

   แบรนด์นี้หลายคนคงนึกไม่ออกว่ามันคือยี่ห้ออะไร ใช่รถขององค์การ Nasa หรือเปล่า (อันนี้ไม่ใช่ละ) แต่แท้จริงแล้วแบรนด์นี้เป็นแบรนด์รถยนต์ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปี 2008 บริษัทอย่างยนตรกิจได้นำเข้ารถเล็ก Naza Forza เข้ามาขายในไทย โดยตัวรถเป็นแฮตซ์แบ็คท้ายตัดคันเล็กๆเหมือน Eco Car บ้านเรา วางเครื่องยนต์ความจุ 1.1 ลิตร พละกำลัง 65 แรงม้า เอาใจคนชอบสับเท้าเหยียบคลัตซ์ ใช้มือสับเกียร์ด้วยการติดตั้งเกียร์ธรรมดา และวางจำหน่ายในราคาเริ่มต้น 349,000 บาท ยังไม่รวมของแต่งสารพัดที่อาจจะติดตั้งเพิ่มได้  เช่น Airbag คู่หน้า, ล้ออัลลอย, กระจกมองข้างไฟฟ้า, สปอร์ตไลต์, เซ็นทรัลล็อก, ไฟเบรกดวงที่ 3, เซ็นเซอร์ถอยจอด, หัวเกียร์และปลายท่อแบบสปอร์ต, กุญแจรีโมท, เบาะหลังแยก 40:60, คิ้วกันกระแทก และกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ จะบวกเงินไปอีก 30,000 บาท เป็นราคาโปรโมชั่น (ปกติ 50,000 บาท) ตอนนั้นกระแสตอบรับก็ค่อนข้างดี มียอดจองราวๆ 200 กว่าคัน

   แต่ด้วยปัญหาต่างๆของรถ รวมถึงชื่อเสียงของยนตรกิจที่หลายๆคนน่าจะรู้ดี ทำให้แบรนด์ Naza ในไทย ไปไม่ถึงฝั่ง ทำให้แบรนด์นี้ค่อยๆตายจากตลาดไทยอย่างช้าๆ หลังทำตลาดได้ราวๆ 2 ปีเท่านั้น

Chery
   แบรนด์จีนที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ ถูกนำเข้ามาขายโดยไทยยานยนตร์ช่วงปลายปี 2009 เป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจของยนตรกิจ (อีกแล้วเหรอ) ใช้ชื่อบริษัทว่า ไทยเฌอรี่ยานยนตร์ และดูเหมือนว่าตอนนั้นบริษัทค่อนข้างจะจริงจังกับการมาเปิดตลาดไทย ด้วยการแนะนำรถ 3 รุ่น ได้แก่
  Chery QQ รถเล็ก 5 ประตูสุดน่ารัก มากับเครื่องยนต์เบนซิน 1.1 ลิตร  พร้อมเกียร์อัตโนมัติ AMT และเกียร์ธรรมดา ราคาค่าตัวอยู่ที่ 389,400-434,800 บาท
   Chery Tiggo รถอเนกประสงค์กะทัดรัดแบบ 5 ที่นั่ง มากับเครื่องเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,000 ซีซี 131 แรงม้า ค่าตัว 825,000 บาท

   และ Chery B14 Cross รถ MPV รุ่นใหญ่สุด วางขายในราคา 915,000 บาท
  และรุ่นสุดท้ายที่เอามาขาย Chery A1 รถเล็กรุ่นล่าสุดตอนนั้น วางเครื่อง 1.3 ลิตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา ราคาเปิดตัวตัวนั้น 398,000 บาท ก่อนปรับขึ้นเป็น 425,000 บาท

   ผลตอบรับจากลูกค้าในแบรนด์นี้ แรกๆก็ค่อนข้างดีพอสมควร แต่สุดท้ายก็เข้าฟอร์มเดิมแบบยี่ห้อ Naza คือเรื่องปัญหารถ และคุณภาพของแบรนด์จีนที่หลายคนไม่ไว้ใจ สุดท้ายก็โดนลอยแพไปแบบเงียบๆ

Proton
   อีกหนึ่งแบรนด์ของมาเลเซียที่ทุกคนคุ้นเคยดี มาเปิดตลาดในไทยช่วงปี 2007  ที่ดูแลตลาดโดย พระนครโอโตเซลส์ ในเครือพระนครยนตรการ ด้วยการแนะนำรถ 3 รุ่นด้วยกัน อันได้แก่รถแฮตซ์แบ็คคันเล็ก Proton Savvy ที่มากับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ AMT ในราคาเริ่มต้น 399,000 บาท

รถแฮตซ์แบ็ค 3 ประตูสไตล์สปอร์ต Proton Neo มากับเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร รหัส CamPro CPS มากับพละกำลัง 125 แรงม้า ราคาเริ่มต้นที่ 499,000 บาท-698,000 บาท

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b2/2012_Proton_Gen-2_ecoLogic_GSX_in_Trafalgar_Square,_London,_England,_U.K.jpg
รถสปอร์ตซีดาน  5 ประตู Proton Gen-2 ราคา 549,000-629,000 บาท

และที่สำคัญพวกเขามักโปรโมทว่ารถใช้เทคโนโลยีช่วงล่างและการขับขี่จากค่ายรถสปอร์ตอย่าง Lotus (ซึ่ง Proton เป็นเจ้าของในช่วงนั้น) และช่วงหลังๆก็มีการนำเสนอรถรุ่นใหม่ๆเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Proton Exora รถแนว MPV ขนาดใหญ่ คู่แข่ง Toyota Innova เปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 วางเครื่อง 1.6 ลิตร พละกำลัง 125 แรงม้า ในราคาเริ่มต้น 699,000-799,000 บาท และภายหลังในช่วงปี 2012 ที่มีการปรับโฉมเพิ่มทางเลือกขุมพลังเทอร์โบที่มากับเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร รหัส CamPro CFE – Charge Fuel Efficiency 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบชาร์จเจอร์พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ พละกำลัง 138 แรงม้า ราคาเริ่มต้น 664,000-919,000 บาท

รถซีดาน 4 ประตู Proton Persona วางเครื่องยนต์ Campro ขนาด 1.6 ลิตร 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบท่อไอดีแปรผัน IAFM ให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด วางจำหน่ายในราคา 549,000-649,000 บาท ซึ่งในรุ่นนี้ก็มีพลังงานทางเลือก CNG ด้วยเช่นกัน

   ต่อมาช่วงปลายปี 2012 ค่ายได้นำเสนอรถรุ่นใหม่ Proton Preve ซีดาน 4 ประตู ที่ชูจุดขายด้วยออปชั่นและระบบความปลอดภัยจัดเต็มในราคาที่น่าคบหา มีขุมพลังให้เลือก 2 แบบได้แก่เครื่องเบนซิน 1.6 ลิตร พละกำลัง 107 แรงม้า และ 1.6 ลิตรเทอร์โบ พละกำลัง 138 แรงม้า โดยมากับราคาที่ถูกกว่า C-Segment คู่แข่ง และราคายังใกล้เคียง B-Segment หลายรุ่นด้วย โดยมีราคาค่าตัวที่ 625,000-759,000 บาท

   รถรุ่นสุดท้ายที่ Proton ได้เปิดตัวและวางขายในไทยคือ Proton Suprima S แฮตซ์แบ็ค 5 ประตูที่มีพื้นฐานจาก Preve มีขุมพลังให้เลือกอย่างเดียวคือเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุดที่ 138 แรงม้า วางราคาไว้ที่ 779,000-829,000 บาท

รถที่เคยหมายมั่นว่าจะเอามาขายในไทย สุดท้ายก็เงียบหายไปเลย
    Proton มาจัดแสดงรถในงานใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ Motor Expo 2014 โดยมีรถเล็กคันสีเขียวมากระบบความปลอดภัย Proton Iriz ที่เคยหมายมั่นว่าจะเอามาขายในไทยปี 2015 แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีการเปิดตัวและไม่เคยเห็น Proton มาจัดแสดงรถในงานใหญ่ๆอีกเลย

   อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ยังมียอดขายรถในค่ายของพวกเขาเรื่อยๆ แต่ก็น้อยถึงน้อยมากๆ เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาก็ทำยอดขาย "ทั้งปี" ได้แก่ 198 คัน (อ้างอิงจาก Headlightmag) บวกกับหลายๆดีลเลอร์ก็ทยอยปิดตัวลงเรื่อย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า Proton จะม้วนเสื่อกับมาเลเซียหรือไม่ ก็ต้องรอกันต่อไป

Mitsuoka
   ค่ายรถดัดแปลงจากญี่ปุ่นที่มาแนะนำตัวในเมืองไทยภายในงาน Motor Expo 2009 หลังจากนั้นในปี 2010 ก็ได้มาเปิดตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ นำทีมโดยกลุ่มยนตรกิจ ก่อตั้งบริษัท มิทสึโอกะ มอเตอร์ (ประเทศไทย)

   รถรุ่นแรกๆที่พวกเขาเปิดตัวก็คือ Mitsuoka Galue  รถซีดานหรูที่เอาโครงสร้าง Nissan Fuga รุ่นปี 2006 มาดัดแปลงหน้าขายใหม่ มีให้เลือกทั้งเวอร์ชั่นซีดานธรรมดาและลีมูซีน โดยมีราคาจำหน่ายดังนี้
- Galue 250 ราคา 3,850,000 บาท
- Galue 350 ราคา 4,690,000 บาท
- Galue Limousine 250 ราคา 5,890,000 บาท
- Galue Limousine 350 ราคา 6,980,000 บาท

   อีกคันก็คือสปอร์ตทรงประหลาด Mitsuoka Orochi วางเครื่องเบนซิน 3,311 CC. V6 แรงม้าสูงสุด 233 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด จำหน่ายในราคา 11,700,000 บาท

   และในช่วงปี 2010 Mitsuoka จับมือกับยนตรกิจ คอร์ป ตั้งบริษัท มิทสึโอกะ มอเตอร์ (ประเทศไทย) พร้อมตั้งฐานการประกอบในไทย หวังเปิดตลาดด้านการส่งออกในประเทศอาเซียน ตะวันออกกลาง และอื่นๆ ประเดิมเปิดไลน์ประกอบ 2 รุ่น Galue IV และ Himiko ในปี 2011 ถือว่าเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ มิทสึโอกะ แห่งแรก ที่ตั้งขึ้นนอกประเทศญี่ปุ่น


    Galue IV ครั้งแรกที่ Mitsuoka เอาพื้นฐานของ Nissan Teana J32 มาใช้ ทำให้ตัวถังและภายในของรถนั้นเหมอืน Teana เลย ทำให้คนไทยหลายคนคงคุ้นตาดี (รุ่นที่แล้วใช้ Fuga มาทำ คนไทยอาจไม่คุ้นเท่าไหร่)

   Galue V ซีดานรุ่นล่าสุดที่เปิดตัวในไทยช่วงปี 2015 นำเอาพื้นฐานของ Nissan Teana L33 มาดัดแปลงหน้าท้ายแล้วขายในราคา 2,290,000-2,760,000 บาท

   อีกคันที่ Mitsuoka เอามาก็คือสปอร์ตเปิดประทุนหน้าตายาวเหยียด Himiko ที่เอาตัวถังของ Mazda MX-5 มาทำใหม่ วางราคาขายเริ่มที่ 3,750,000 บาท

   และคันที่ผมถึงกับเงิบสุดๆแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเจ้าตัวเล็กอย่าง Viewt ที่นำเอาพื้นฐานของ Nissan March มาต่อยอดเป็นรถเล็กที่หรูขึ้น คือไม่อยากเชื่อว่าค่ายนี้สามารถเอารถเล็กราคา 4-5 แสนกว่าๆ มาดัดแปลงขายในราคาหลักล้านได้ ช่วงเปิดตัวแรกๆนั้นตั้งราคาขายไว้ที่ 1.99 ล้านบาท แต่ภายหลังมีการปรับราคาและเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ที่มีราคาถูกลง โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 799,000 บาทไปจนถึง 1,179,000 บาท

   สุดท้ายก็ไม่รู้ด้วยสาเหตุอะไร อาจจะเป็นเพราะด้วยตัวแบรนด์ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ ยอดขายก็ไม่ได้มากเท่าที่ควร ส่วนปัญหาตัวรถนั้น ผมเองก็ไม่ทราบว่ามีไหม และท้ายที่สุดแบรนด์ Mitsuoka ก็ยุติการทำตลาดในไทยแบบเงียบๆ โดยขึ้นผ่านหน้าเว็บไซด์เมื่อไม่นานมานี้เอง ถือว่าเป็นการปิดฉากการทำตลาดแบรนด์นี้ในไทยเรียบร้อย

V.M.C.
    เห็นชื่อแบรนด์นี้ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก โดยเฉพาะตัวผมเองก็เกิดไม่ทันรถรุ่นนี้ แต่มีคนมาบอกต่อเลยไปสืบหาข้อมูลดูเกี่ยวกับรถคันนี้เลยได้ข้อมูลมาว่า...

    ย้อนไปเมื่อเกือบ 30 กว่าปีที่แล้ว เมื่อราวปี 1975-1977 มีคนไทยกลุ่มหนึ่งพยายามออกแบบ สร้างและผลิตรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันครับว่ายี่ห้ออะไร แต่ในความตั้งใจของคนไทยกลุ่มดังกล่าว ก็ไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่ผันไว้และผลิตขายไม่ได้อันเนื่องมาจากประสบกับปัญหาเงินทุนและคู่แข่งจากต่างประเทศมีมาก อีกทั้งคนไทยยังเห่อของนอกด้วย ทำให้ แต่หลังจากนั้นพอมาถึงช่วงปี 1992-1994 ได้มีนักธุรกิจจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มารวมตัวกันเพื่อผลิตรถกระบะ ขนาด 1 ตันภายชื่อ บริษัท สยาม วิ.เอ็ม.ซี.ยานยนต์ จำกัด ภายใต้โลโก้ V.M.C ใช้สัญลักษณ์เป็นวงกลมและมีตัว M อยู่ตรงกลาง

     ในปี 1995 รถกระบะของไทยนาม V.M.C ก็ได้เปิดตัวสู่สายตาชาวไทย ด้วยหน้าตาและกระบะท้ายของรถนี่มองแล้วรู้เลยว่าเอามาจาก Isuzu TFR แต่ในส่วนหัวเก๋งหรือตัวถังของรถกลับเอาของ Nissan Big-M มาใส่เสียดื้อๆ กลายเป็นการผสมผสานที่แหวกแนวสุด ณ ตอนนั้น

    เครื่องยนต์ของรถคันนี้มากับเครื่องยนต์ดีเซล VM425SLTRS 4 สูบ Turbocharger ขนาด 2.5 ลิตร ที่อุตส่าห์จ้างบริษัทชั้นนำในอิตาลีออกแบบและประกอบซึ่งดัดแปลงมาจากเครื่องยนต์ที่ วางในรถเก๋งซีดานยี่ห้อหรูของอิตาลีเลยทีเดียว แรงม้าสูงสุด 117 แรงม้าที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 240 กก-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 173 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับกระบะยุคนั้น เจ้า V.M.C. ค่อนข้างเหนือกว่าทุกยี่ห้อ อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง

   แต่ด้วยความรีบร้อนหรืออาจจะเรียกได้ว่าการวางแผนที่ผิดพลาดเพราะเร่งเปิดตัวในสภาพที่ไม่เรียบร้อยดี ความพร้อมของศูนย์บริการก็ยังไม่มี การประชาสัมพันธ์ก็อ่อน จึงทำให้เกิดภาพลบในสายตาคนไทยตั้งแต่เริ่มต้น และสุดท้ายโลโก้นี้ก็เลือนหายไปภายในระยะเวลาแค่ปีเดียวเท่านั้นเอง

   ด้วยความที่ยุคนั้น คนไทยมองว่า V.M.C เป็นรถที่แปลกตา ทำให้ยากต่อการยอมรับในยุค 1995 แต่ในลักษณะเดียวกันนี้เอง มันกลับถูกยอมรับในภาพลักษณ์นี้หลังปี 2000 นั่นแปลว่า วี.เอ็ม.ซี ล้ำหน้ากว่าชาวบ้านเขาทุกยี่ห้อเกือบ 10 ปีกันเลยทีเดียว

---------------------------------------------------------------

   และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 แบรนด์รถในเมืองไทยที่ถูกคนไทยลืม หรือถูกมองข้ามไป บางแบรนด์นั้นยังมีขายอยู่ในตลาดแต่กลับไม่มีใครสนใจ หรือบางแบรนด์นั้นก็ยุติการทำตลาดหรือหายไปแบบเงียบๆ อันที่จริงแล้วนั้นแบรนด์รถที่เคยทำตลาดในไทยและคนไทยลืมนั้นมันมีมากมายหลานยแบรนด์ แต่ผมยกตัวอย่างมาแค่ 5 แบรนด์ที่พอรู้และหาข้อมูลได้มาให้ท่านได้รับชมกัน ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้อาจจะไม่สมบูรณ์แบบหรือขาดตกบกพร่องไปบ้างก็ขออภัยด้วยครับ

มาร่วมติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเราได้ที่นี่ครับ 

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 พฤษภาคม 2561 เวลา 07:33

    ⚙️ขับไม่เป็น.นี่ซิ😅 แต่ก็สวยดีน๊าา.🎼 มีรถสมัยเก่าด้วย 🗝มรดกจากคุณปู่😊©️🎁📦💵💶⌨️

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวรถได้
ห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพนัน หรือสิ่งผิดกฎหมาย

Like Box